top of page

ค้างคาวดำ


ค้างคาวดำ

ชื่ออื่นๆ: เนระพูสี เนียมฤาษี ม่านแผลน ว่านนางครวญ นิลพูสี มังกรดำ ดีงูหว้า ว่านพังพอน ว่านหัวฬา ดีปลาช่อน คลุ้มเลีย ว่านหัวเลีย ม้าถอนหลัก

ชื่อวิทยาศาสตร์: Tacca chantrieri André

ชื่อพ้อง:

Clerodendrum esquirolii H.Lév., Schizocapsa breviscapa (Ostenf.) H.Limpr,. Schizocapsa itagakii Yamam., Tacca esquirolii (H.Lév.) Rehder, Tacca garrettii Craib, Tacca macrantha H.Limpr., Tacca minor Ridl,. Tacca paxiana H.Limpr., Tacca roxburghii H.Limpr., Tacca vespertilio Ridl., Tacca wilsonii H.Limpr.nep.

ชื่อวงศ์

Taccaceae

ลักษณะภายนอกของเครื่องยา:

เหง้าใต้ดินแข็ง รูปทรงกระบอก สีเทาดำ ยาว 30-50 เซนติเมตร รากหลัก และรากแขนงแข็งแกร่ง ผิวรากเรียบ รากสาขาที่แตกออกมาจากรากหลัก ค่อนข้างแข็ง เป็นเนื้อไม้ มีขนาดใหญ่ มองเห็นได้ชัดเจนเรียงเป็นระเบียบรอบรากหลัก

สรรพคุณ:

ตำรายาไทย เหง้า รสสุขุม แก้ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต ดับพิษไข้ ฝาดสมาน แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้ท้องเสีย ผสมในตำรับยาแก้ทรางเด็ก แก้ไข้ แก้ลิ้นคอเปื่อย แก้ไอ แก้ปวด เจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ ต้มหรือดองสุราดื่มแก้โรคความดันเลือดต่ำ บำรุงกำลังทางเพศ บำรุงกำลังสตรีระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งต้น รสสุขุม ต้มอาบแก้เม็ดผื่นคันตามร่างกาย เข้ายาม้า ยาช้าง ทำให้อ้วน

ยาพื้นบ้านล้านนาใช้ ทั้งต้น ผสมสมุนไพรอื่น ฝนรวมกันกินแก้เบื่อเมา ชาวเขาเผ่าแม้ว มูเซอใช้ ราก ต้น เหง้า ใบ ต้มน้ำดื่ม หรือเคี้ยวกิน แก้ปวด ปวดตามร่างกาย มะเร็ง ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร บำรุงร่างกาย

บัญชียาจากสมุนไพร: ที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา ระบุการใช้เหง้าเนระพูสีร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ใน “ตำรับยาเขียวหอม” สรรพคุณ บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัด และอีสุกอีใส)

Komen


bottom of page