top of page

ซีสต์


ซีสต์ ในผิวหนังชั้นนอกเป็นก้อนเนื้อที่เจริญเติบโตช้าๆ ใต้ผิวหนัง ภายในก้อนมีของเหลวหนืด

สาเหตุ

สาเหตุของการเกิดซีสต์ในผิวหนังชั้นนอกมีหลายประการ เช่น

  • รูขุมขนอุดตันจากการสะสมของเซลล์ผิวหนัง

  • รูขุมขนถูกทำลายอันเนื่องมาจากการเป็นสิว

  • ต่อมน้ำมันใต้ผิวหนังอุดตันหรือทำงานผิดปกติ

อาการ

  • ก้อนเล็กนูนเกิดขึ้นใต้ผิวหนัง

  • มีกลิ่นเหม็น มีของเหลวหนืดไหลซึมออกมาจากก้อนนูน

  • หากเกิดการอักเสบจะเป็นสีแดง กดแล้วเจ็บรอบๆ ก้อนนูน

อย่างไรก็ตาม อาการทั้งหมดนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่ซีสต์ในผิวหนังชั้นนอกก็ได้ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย

การวินิจฉัย

โดยมากแล้วแพทย์จะวินิจฉัยได้ว่าผู้ป่วยเป็นซีสต์ในผิวหนังชั้นนอกโดยดูจากอาการที่เกิดขึ้น แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเพื่อการตรวจวินิจฉัยต่อไป

ซีสต์มีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะต่างกันอย่างไร

สามารถจำแจกซีสต์ที่เกิดขึ้น บนผิวหนังตามลักษณะตำแหน่งที่เกิด และส่วนประกอบของซีสต์ ออกเป็นชนิดต่างๆ ซีสต์ที่มีผนังซึ่งมีส่วนประกอบคล้ายผิวหนัง ได้แก่ Epidermal Cyst, Milium, Steatocystoma Multiplex, Vellus Hair Cyst และ Dermoid Cyst ซีสต์ที่มีผิวหนังเป็นต่อมเหงื่อ ได้แก่ Apocrine และ Eccrine Hidrocystoma

Epidermal Cyst

เป็นซีสต์ที่พบบ่อยที่สุด โดยเป็นซีสต์ ที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง ที่เป็นส่วนประกอบของรูขุมขน โดยมี Keratin ซึ่งมีส่วนประกอบเหมือนขี้ไคลบรรจุอยู่ภายในซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะ เป็นก้อนกลมๆ ขนาดแตกต่างกัน สีเดียวกับผิวหนังซึ่งยึดติดอยู่กับผิวหนังด้านบน แต่ไม่ติดกับเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ซีสต์และอาจมีรูเปิดที่ผิวหนังในส่วนที่ซีสต์ยึดติดอยู่ ซึ่งเมื่อเราดึงผิวหนังให้ตึงจะพบรอยบุ๋มเกิดขึ้นบนซีสต์ในตำแหน่งนี้ และพบสารสีขาวๆ คล้ายสังขยาไหลออกมาเมื่อเราบีบซีสต์ แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ในการวินิจฉัยซีสต์ เนื่องจากการบีบซีสต์อาจทำให้ซีสต์มีการอักเสบ เจ็บและบวมแดงขึ้นได้ Epidermal Cyst จะมีขนาดแตกต่างกันไป เป็นกันได้ในทุกเพศทุกวัยและทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยคือ ที่ใบหน้า คอ หน้าอก และหลังส่วนบน

Milium

หรือสิวข้าวสาร เป็นซีสต์ที่มีผนังและส่วนประกอบเหมือน Epidermal Cyst แต่มีขนาดเล็กกว่า โดยมีลักษณะเป็นตุ่มแข็งสีขาวคล้ายสิว ซึ่งอยู่ตื้นและมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ1-2 มม. ซีสต์ชนิดนี้ พบได้ทุกอายุตั้งแต่ทารกแรกเกิดจนถึงวัยชรา เป็นได้เท่าเทียมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พบได้ทั่วทั้งตัว แต่จะพบบ่อยบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จมูกในทารกแรกเกิด และที่หนังตาและแก้มในเด็ก นอกจากนี้ Milium ยังมักเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ผิวหนังเคยถูกทำลายมาก่อน เช่นในบริเวณที่ ผิวหนังเคยเป็นแผลถลอก หรือเกิดขึ้นหลังการขัดหน้า เกิดขึ้นหลังจากได้รับการฉายรังสีหรือตากแดดจนไหม้ หรือหลังจากเป็นโรคผิวหนังที่เป็นตุ่มน้ำพองใส หรือเกิดขึ้นในบริเวณที่เคยทายาสเตียรอยด์อยู่นานๆ ส่วนใหญ่เมื่อผิวหนังมีการสมานแผลภายหลังการที่ผิวถูกทำลายด้วยลักษณะต่างๆ เหล่านี้ ก็อาจมี สิวข้าวสารขึ้นได้

Steatocystoma Multiplex

เป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นที่ท่อของต่อมไขมัน (Sebaceous Duct) ผนังของซีสต์ชนิดนี้มีลักษณะคล้ายกับซีสต์ชนิดแรกคือ Epidermal Cyst แต่สารที่บรรจุภายในซีสต์ไม่ใช่ Keratin แต่เป็นไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมัน ซีสต์ชนิดนี้มักจะพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชาย มีลักษณะเป็นตุ่มใต้ผิวหนังขนาดแตกต่างกันแต่มักไม่เกิน 5 ซม. ซึ่งพบได้บนผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย แต่พบบ่อยบริเวณกลางหน้าอก ต้นแขนและต้นขา ถ้าซีสต์ประเภทนี้อยู่ตื้นจะมองเห็นเป็นตุ่มสีเหลืองๆ แต่ถ้าซีสต์อยู่ลึกจะเห็นเป็นตุ่มสีเดียวกับผิวหนัง ลักษณะสำคัญของซีสต์ประเภทนี้ก็คือ ถ้าใช้เข็มเจาะซีสต์จะมีน้ำมันสีเหลืองคล้ายเนยเหลวๆ ไหลออกมา ซีสต์ประเภทนี้มักจะเกิดขึ้นพร้อมๆกันหลายๆตุ่ม

Vellus Hair Cyst

เป็นซีสต์ขนาดเล็กซึ่งมีผนังและสารที่บรรจุอยู่ในซีสต์คล้ายกับ Epidermal Cyst และ Steatocystoma Multiplex แต่มีเส้นผมขนาดเล็ก (Vellus Hair) บรรจุอยู่ภายในซีสต์ด้วย ทำให้ ซีสต์มีลักษณะเป็นตุ่มสีคล้ำ ซีสต์ชนิดนี้มักเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ ตุ่มทั่วร่างกายและ

Dermoid Cyst

เป็นซีสต์ที่พบไม่บ่อย ซีสต์ชนิดนี้มักเป็นตั้งแต่กำเนิดหรือวัยเด็ก และเป็นซีสต์ที่มีส่วนประกอบเหมือนผิวหนังมากที่สุด โดยผนังของซีสต์ประกอบด้วยเซลผิวหนัง เส้นผม ต่อมเหงื่อและต่อมไขมัน ลักษณะของซีสต์เป็นก้อนกลมใต้ผิวหนัง ขนาดประมาณ1-4 ซม. ซึ่งอาจมีปอยผมงอกออกมาจากซีสต์ ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณหางคิ้ว จมูก และหนังศีรษะ ซีสต์ชนิดนี้ถ้าเป็นบริเวณกึ่งกลางของร่างกาย เช่น จมูก และศีรษะบริเวณท้ายทอยอาจมีทางเปิดติดต่อกับสมอง

เนื่องจากผนังของซีสตืประกอบด้วยเซลผิวหนัง จึงมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้เช่นเดียวกับผิวหนังทั่วๆไป แต่อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็ง จากซีสต์ต่ำมาก จนไม่จำเป็นต้องกังวลจนกลัดกลุ้ม โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากซีสต์ ส่วนใหญ่จึวเป็นการอักเสบและการติดเชื้อแทรกซ้อน ซึ่งมักเกิดขึ้นในกรณีที่ซีสต์แตก จากการถูกเจาะหรือบีบซีสต์ หรือการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ถูกเสียดสีบ่อยๆ ทำให้สารที่บรรจุอยู่ในซีสต์เล็ดลอดออกมากระตุ้นให้ร่างกายเกิดขบวนการอักเสบ และเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนัง แทรกซึมเข้าไปเจริญเติบโตในซีสต์ ทำให้ซีสต์มีขนาดใหญ่ขึ้น แดงและเจ็บ สำหรับ Dermoid Cyst นั้นนอกจากจะมีโอกาสเกิดการอักเสบและติดเชื้อ เช่นเดียวกับซีสต์ชนิดอื่นๆ แล้ว ในกรณีที่ซีสต์มีทางเปิดติดต่อกับสมอง การติดเชื้อที่ซีสต์จึงอาจลุกลามเข้าไปในสมอง เกิดเป็นฝีในสมองได้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหนไม่ควร เจาะ แคะ แกะ เกาบ่อยๆ เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว

การรักษา

เนื่องจากซีสต์เป็นเนื้องอกที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้น้อย จึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดออก แต่ควรผ่าตัดเอาซีสต์ออกในกรณีที่ซีสต์นั้นมีการอักเสบติดเชื้อบ่อยๆ หรือมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบติดเชื้อ จากการที่ซีสต์นั้นอยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการเสียดสีบ่อยๆ สำหรับซีสต์ที่มีขนาดเล็กและอยู่ตื้น เช่น Milium อาจให้การรักษาด้วยการเจาะและใช้เครื่องมือสำหรับกดสิว กดเอาสารที่บรรจุอยู่ใรซีสต์ออก ส่วนการรักษา ซีสต์ชนิดอื่นก็ทำได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนซีสต์ออกส่วน Steatocystoma นั้น เนื่องจากสารที่อยู่ในซีสต์เป็นน้ำมัน จึงอาจรักษาได้ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาน้ำมันที่บรรจุอยู่ในซีสต์ และลอกเอาผนังของซีสต์ออก ในกรณีที่ซีสต์มีการอักเสบติดเชื้อ ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะร่วมกับการผ่าซีสต์เพื่อระบายหนองออก สำหรับ Dermoid Cyst ที่อยู่ในตำแหน่งที่อาจมีทางเปิดติดต่อกับสมองนั้น ก่อนให้การรักษาแพทย์จะต้องทำการตรวจอย่างละเอียดร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนไว้ล่วงหน้า

ซีสต์ เป็นเรื่องไม่น่าต้องกังวลมากนัก เพราะโอกาสกลายเป็นมะเร็งค่อนข้างต่ำมาก ที่สำคัญไม่ว่าคุณจะเป็นซีสต์แบบไหน หรือถ้ายังไม่แน่ใจว่าเป็นซีสต์ ก็ลองไปให้แพทย์ผิวหนังช่วยวินิจฉัยดูได้ เพื่อความสบายใจ สิ่งที่ต้องดูแลตัวเองให้ดีคืออย่ามือซนไปบีบ เจาะซีสต์เองเพราะสามารถทำให้ติดเชื้อ และเป็นแผลขึ้นมาได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก | โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

Retrieved from: https://www.bumrungrad.com/th/skin-dermatology-center-bangkok-thailand/conditions/cysts-epidermis

bottom of page