top of page

สะเก็ดเงิน


รคสะเก็ดเงิน เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของผิวหนังอีกโรคหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย พบโรคนี้ได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากรทั่วโลก มีลักษณะสำคัญคือ เป็นปื้นนูนแดงปกคลุมด้วยสะเก็ดสีเทาเงิน ปื้นแดงนี้มักพบบริเวณข้อศอก เข่า หลังส่วนล่าง และหนังศีรษะ แต่อาจพบผื่นที่ผิวหนังบริเวณใดของร่างกาย ก็ได้รวมทั้งที่เล็บ ในกรณีที่ผื่นสะเก็ดเงินเกิดขึ้นในบริเวณข้อพับต่าง ๆ เช่น ขาหนีบ รักแร้ อวัยวะสืบพันธุ์ ภายนอก และใต้ฐานเต้านมในผู้หญิง ก็มักจะมีลักษณะต่างจากลักษณะข้างต้นคือ ผื่นจะมีสะเก็ดค่อนข้างน้อย หรือไม่มีเลยและพื้นผิวค่อนข้างมัน โดยทั่วไปผื่นสะเก็ดเงินมักไม่พบที่บริเวณใบหน้า นอกจากนี้เมื่อผื่นสะเก็ดเงินหายแล้ว จะไม่มีรอยแผลเป็นหลงเหลืออยู่ และน้อยรายมากที่จะทำให้เกิดผมร่วง อย่างไรก็ดีอาจมีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของสีผิวหนังในบริเวณที่เคยเป็นผื่นสะเก็ดเงินมาก่อนหลงเหลืออยู่ แต่ก็จะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติเมื่อเวลาผ่านไป สาเหตุ สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ผลที่เกิดขึ้นกับผิวหนัง คือ มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วขึ้นกว่าปกติ และทำให้ผิวหนังบริเวณที่เป็นผื่นมีความหนากว่าผิวหนังปกติ สาเหตุหนึ่งที่เชื่อว่าทำให้เกิดโรคสะเก็ดเงิน คือ การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างผิดปกติต่อองค์ประกอบบางอย่างของผิวหนัง แต่สาเหตุที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด และอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง ปัจจัยทางพันธุกรรมก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากพบว่ามีเพียงสมาชิกในบางครอบครัวเท่านั้น ที่ป่วยเป็นโรคนี้ และพบว่าประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จะมีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนในเครือญาติที่ป่วยเป็นโรคนี้เช่นเดียวกัน พบว่าการเกิดผื่นมักเริ่มจากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น ได้แก่ อารมณ์เครียด การบาดเจ็บของผิวหนัง (รอยฉีกขาด รอยแกะ รอยเกา เป็นต้น) อาการเจ็บคอที่เกิดจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน (ผื่นมักเริ่มเกิดในช่วงแตกเนื้อหนุ่มหรือเป็นสาว) และยาบางชนิด (พบได้น้อย) ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นเท่าที่จะสามารถทำได้ อย่างไรก็ดีน่าจะมีปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือ จากที่กล่าวมาแต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน อาการ อาการผื่นผิวหนังเป็นได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อย คือ ผิวหนังอักเสบเป็นปื้นแดง (erythematous plaque) ลอกเป็นขุย เป็น ๆ หาย ๆ ผู้ป่วยบางรายเป็นเฉียบพลันแล้วผื่นก็หายไป บางรายเป็นผื่นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบได้ คือ ความผิดปกติที่เล็บ ข้ออักเสบ เป็นต้น ผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติของเล็บหรือปวดข้อนำมาก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ผื่นสะเก็ดเงินที่พบจะมีลักษณะเป็นตุ่มหรือปื้นสีแดงจัด ขอบเขตผื่นชัดเจน มีขุยหรือสะเก็ดเงินปกคลุม ขุยผื่นมีลักษณะเหมือนแผ่นกระจกแตกร้าว ขุยสีขาวคล้ายเงิน (silvery-white scales) ปิดบนรอยผื่นสีแดง และเมื่อลอกขุยออกจะมีจุดเลือดออก (Auspitz sign) ผื่นบางชนิดมีหลายรูปแบบ อาจเป็นตุ่มกลมขนาดเล็กเท่าหยดน้ำ หรือผื่นกลมเท่าขนาดเหรียญ หรือปื้นขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือ ขอบปื้นอาจหยักโค้ง บางรายเป็นปื้นขนาดใหญ่จากแผ่นหลังจรดสะโพก หรือบางรายผื่นเป็นทั่วตัวจนไม่เหลือผิวหนังปกติ ส่วนลักษณะการกระจายของผื่นที่พบบ่อยมี 2 แบบ - แบบแรก เป็นผื่นนูนขนาดหยดน้ำหรือเหรียญกระจายทั่วตัว (guttate psoriasis) มักเกิดในระยะเวลาสั้น ๆ พบบ่อยในเด็กหลังทุเลาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผื่นชนิดนี้จะค่อย ๆ จางหายได้เองหากได้รับการรักษาการติดเชื้อให้หายไป แต่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีก - แบบที่สอง เป็นผื่นเรื้อรังเฉพาะที่ (psoriasis vulgaris หรือ plague type psoriasis) บริเวณซึ่งมีการเสียดสี เช่น ข้อศอก ข้อเข่า หลัง สะโพก หนังศีรษะ เป็นผื่นขนาดใหญ่ ผื่นจะขยายค่อยเป็นค่อยไปและอาจหายได้เองแต่ช้า ซึ่งอาจต้องได้รับการรักษาที่เหมาะสม ผื่นสะเก็ดเงินเมื่อหายจะไม่เหลือรอย แต่ในบางรายเมื่อผื่นหายจะเป็นรอยดำ และค่อยปรับเป็นผิวปกติภายหลัง ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยผื่นสะเก็ดเงินเป็นผื่นแบบเรื้อรังเฉพาะที่

ผื่นสะเก็ดเงินอาจมีหลายแบบ เช่น ผื่นในซอกพับ (psoriasis inversus), ผื่นสะเก็ดเงินแบบตุ่มหนอง (pustular psoriasis), ผื่นสะเก็ดเงินทั่วตัว (psoriasis erythroderma) ฯลฯ วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยและญาติ นอกจากการรักษาข้างต้นที่กล่าวมาแล้วนั้น การให้ความรู้ผู้ป่วยและญาติมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การเข้าใจความจริงที่ว่าสะเก็ดเงินเป็นโรคไม่ติดต่อ ผู้ป่วยจะไม่ถูกรังเกียจจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วย และเนื่องจากโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควรดูแลปฏิบัติตนให้ถูกต้องจะช่วยควบคุมโรคให้สงบได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นซึ่งได้แก่ ความเครียด การพักผ่อนน้อย และการดื่มสุรา รวมถึงยาบางชนิดสามารถกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ยาทางจิตเวช (lithium) เป็นต้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรือการติดเชื้อ เป็นหวัด ในผู้ป่วยบางรายอาจทำให้ผื่นเห่อขึ้นได้ โดยผู้ป่วยควรติดตามการรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรย้ายเปลี่ยนแพทย์ไปเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังอาจต้องใช้เวลานานในการรักษา วิธีการป้องกัน เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทราบเพียงว่า เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นภายนอก ทำให้มีการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วผิดปกติ ดังนั้น การดูแลใส่ใจสุขภาพตนเองหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดูแลสุขอนามัยเพื่อลดการติดเชื้อต่าง ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคสะเก็ดเงินและโรคร้ายอื่น ๆ

ขอขอบคุณบทความจาก | สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย Retrieved from: http://www.dst.or.th/html/index.php?op=article-detail&id=1169&csid=8&cid=23#.WVNlS8bjKRs

กำลังมองหาทางออกการรักษา "โรคสะเก็ดเงิน"?

ปรึกษาโรคสะเก็ดเงินและโรคผิวหนังอื่นๆกับผู้เชี่ยวชาญ กรุงเทพทิพโอสถ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย วันนี้

โทร. 02-441-4966 ถึง 67

bottom of page