top of page

เบาหวาน


เบาหวาน เป็นภาวะเรื้อรังของการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเกิดการความบกพร่องของการสร้างอินซูลิน หรือของการทำงานของอินซูลิน หรือทั้งสองกรณี โรคเบาหวานมักจะเกี่ยวพันกับโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงหลายโรคและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ชนิดของเบาหวาน

เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดพึ่งอินซูลิน (IDDM) เบาหวานชนิดที่ 1 นี้ พบประมาณ 5-10% ของโรคเบาหวานทุกประเภท ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นมีน้อยกว่าเบาหวานชนิดที่ 2 ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม และสภาพแวดล้อมของผู้ป่วย

เบาหวานชนิดที่ 2 คือชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (NIDDM) พบเป็นจำนวน 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานประเภทนี้ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน บุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวาน ประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความต้านทานต่อกลูโคสต่ำ ร่างกายไม่เคลื่อนไหว เชื้อชาติ ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด

เบาหวานที่เกิดในช่วงตั้งครรภ์ เกิดขึ้น 2-5% ของจำนวนหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่พบหลังการคลอดบุตรแล้ว ผู้หญิงที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นของการพัฒนาที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มีงานวิจัยกล่าวไว้ว่า ร้อยละ 40 ของผู้หญิงที่มีประวัติเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะพัฒนาเป็นเบาหวานได้ในอนาคต

เบาหวานชนิดพิเศษอื่นๆ มีผลจากความผิดปกติทางพันธุกรรม การผ่าตัด ยาเสพย์ติด ภาวะขาดสารอาหาร การติดเชื้อ และความเจ็บป่วยอื่นๆ เบาหวานชนิดนี้พบเป็นจำนวน 1-2% ของคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคเบาวานทั้งหมด

อาการของโรคเบาหวาน

อาการหลักๆ คือ หิวบ่อย กระหายน้ำ และปัสสาวะปริมาณมากและบ่อย นอกจากนั้น เช่น เหนื่อย อ่อนเพลีย ผิวแห้ง คัน ตาแห้ง อาการชาเท้าหรือรู้สึกเจ็บแปลบที่ปลายเท้าหรือที่เท้า ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้ เมื่อเกิดแผลในบริเวณต่างๆแผลมักหายช้ากว่าปกติโดยเฉพาะแผลบริเวณเท้า บางครั้งสายตาพร่ามัวโดยหาสาเหตุไม่ได้

ในรายที่เป็นไม่มากระดับน้ำตาลในเลือดไม่เกิน 200 มก./ดล. ซึ่งพบในเบาหวานชนิดที่ 2 มักตรวจพบโดยบังเอิญ จากการตรวจปัสสาวะหรือตรวจเลือดขณะพบแพทย์ด้วยเรื่องอื่นๆ

ในรายที่เป็นมากระดับน้ำตาลมากกว่า 200 200 มก./ดล. ซึ่งพบในเบาหวานชนิดที่1และบางส่วนของเบาหวานชนิดที่2 จะปัสสาวะบ่อยและออกครั้งละมากๆ กระหายน้ำ หิวบ่อยหรือกินจุ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง บางรายอาจสังเกตว่าปัสสาวะมีมดขึ้น

อ้างอิงจาก: นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานุภาพ. (2553). ตำราตรวจรักษาโรคทั่วไป 350 โรคกับการดูแลรักษาและการป้องกัน2. พิมพ์ครั้งที่5. พิมพ์ดี กรุงเทพฯ: บริษัท โฮลิสติก พับลิชชิ่ง จำกัด

bottom of page